พายุ ของ ฤดูพายุไต้ฝุ่นแปซิฟิก พ.ศ. 2562

พายุโซนร้อนปาบึก

พายุโซนร้อน (JMA)
พายุโซนร้อน (TMD)
พายุโซนร้อน (SSHWS)
ระยะเวลา31 ธันวาคม 2561 – 4 มกราคม 2562 (ออกนอกแอ่ง)
ความรุนแรง85 กม./ชม. (50 ไมล์/ชม.) (เฉลี่ย 10 นาที)
994 mbar (hPa; 29.35 inHg)
ดูบทความหลักที่: พายุโซนร้อนปาบึก (พ.ศ. 2562)
  • วันที่ 28 ธันวาคม 2561 หย่อมความกดอากาศต่ำก่อตัวขึ้นในทะเลจีนใต้ตอนล่าง[8]
  • วันที่ 30 ธันวาคม 2561 หย่อมความกดอากาศต่ำดังกล่าวดูดซึมผสานเข้ากับเศษที่หลงเหลือของพายุดีเปรสชันเขตร้อน 35W[9]
  • วันที่ 31 ธันวาคม 2561 เนื่องมาจากลมเฉือนแนวตั้งกำลังแรง หย่อมความกดอากาศต่ำจึงไม่เป็นระบบกระทั่งวันที่ 31 ธันวาคม กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นเริ่มติดตามพายุดีเปรสชันเขตร้อนที่ก่อตัวขึ้นในทะเลจีนใต้ตอนล่าง[10] ในขณะที่ศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมได้ออกการแจ้งเตือนการก่อตัวของพายุหมุนเขตร้อนกับระบบ ต่อมาศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมได้ปรับระบบดังกล่าวเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อนเช่นกัน และให้รหัสเรียกว่า 36W[11]
  • วันที่ 1 มกราคม กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นปรับความรุนแรงของพายุดีเปรสชันเขตร้อนเป็นพายุโซนร้อน และใช้ชื่อว่า ปาบึก (Pabuk) การปรับดังกล่าวทำให้ปาบึก กลายเป็นพายุลูกแรกของฤดูกาล 2562 และกลายเป็นพายุที่โดดเด่นกว่าพายุอลิซ เมื่อปี พ.ศ. 2522 และกลายเป็นพายุหมุนเขตร้อนที่ก่อตัวเป็นพายุโซนร้อนได้เร็วที่สุด ในบันทึกของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ[12] ในขณะที่พายุอยู่ห่างจากโฮจิมินห์ ซิตี ประเทศเวียดนามไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 650 กม. โดยมีศูนย์กลางการหมุนเวียนระดับต่ำเปิดออกเป็นบางส่วน[13] ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศเกี่ยวกับพายุโซนร้อนปาบึก โดยคาดว่าพายุจะเคลื่อนตัวเข้าอ่าวไทยในวันที่ 2–3 มกราคม และส่งผลกระทบกับภาคใต้ในวันที่ 3–5 มกราคม[14]
  • วันที่ 3 มกราคม ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ดีที่มีอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลที่อุ่น การไหลออกในแนวขั้วอย่างดีเยี่ยม แต่มีลมเฉือนแนวตั้งกำลังแรง ทำให้พายุปาบึก ต้องดิ้นรนที่จะทวีกำลังแรงขึ้น จนกระทั่งมันเคลื่อนตัวเร่งไปทางตะวันตกเฉียงเหนือเฉตะวันตก และเข้าสู่อ่าวไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีลมเฉือนในแนวตั้งน้อยกว่า และกลายเป็นพายุโซนร้อนลูกแรกที่พัดเข้าสู่อ่าว นับตั้งแต่พายุไต้ฝุ่นหมุ่ยฟ้าในปี พ.ศ. 2547 ยิ่งไปกว่านั้น มันยังพยายามที่จะสร้างตาพายุขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นโดยภาพถ่ายในช่วงคลื่นไมโครเวฟ[15]
  • วันที่ 4 มกราคม กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า พายุปาบึกขึ้นฝั่งที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในเวลา 12:45 น. ตามเวลาในประเทศไทย (05:45 UTC) แม้ว่าหน่วยงานอื่น ๆ จะชี้ว่าพายุปาบึกจะขึ้นฝั่งในระหว่างเวลา 06:00 ถึง 12:00 UTC (13:00 ถึง 19:00 น. ตามเวลาในประเทศไทย) ก็ตาม[16] ทำให้ปาบึก เป็นพายุโซนร้อนลูกแรกที่พัดขึ้นฝั่งในภาคใต้ นับตั้งแต่พายุโซนร้อนลินดา เมื่อปี พ.ศ. 2540 ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นยังคงติดตามพายุต่อจนออกการวิเคราะห์ครั้งสุดท้ายในเวลา 12:00 UTC (หรือตรงกับ 19:00 น. ตามเวลาในประเทศไทย)[17][18]

ในประเทศเวียดนาม พายุปาบึกทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่งคน[19] และทำให้เกิดความเสียหายประมาณ 2.787 หมื่นล้านด่ง (ประมาณ 1.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 38 ล้านบาท)[20] ส่วนในประเทศไทย ซึ่งพายุปาบึกพัดขึ้นฝั่ง มีผู้เสียชีวิตจำนวนแปดรายในจำนวนนี้เป็นชาวรัสเซียหนึ่งราย[21][22] และสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 3.2 พันล้านบาท (100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)[23] นอกจากนี้ปาบึกยังทำให้มีผู้เสียชีวิตอีก 1 รายในประเทศมาเลเซีย[24]

วันที่ 3 มกราคม ในจังหวัดนครศรีธรรมราช มีการอพยพประชาชนกว่า 3 หมื่นคนออกจากพื้นที่ริมชายฝั่ง[25] ท่าอากาศยานบางแห่งในภาคใต้ต้องหยุดให้บริการชั่วคราวเพื่อความปลอดภัย ได้แก่ ท่าอากาศยานนานาชาติสมุย ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราชและท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี[26][27] ทั้งยังมีรายงานการอพยพผู้คนในพื้นที่เสี่ยงของจังหวัดต่าง ๆ เช่น จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดชุมพร อำเภอระโนดในจังหวัดสงขลา[28][29][30] เมื่อพายุขึ้นฝั่งที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชแล้ว[31] อิทธิพลจากพายุยังทำให้เกิดไฟฟ้าดับในหลายพื้นที่ มีผู้ได้รับผลกระทบจากไฟฟ้าดับกว่าห้าหมื่นแปดพันคน[32] ในบางพื้นที่มีรายงานเสาไฟฟ้าและต้นไม้ล้ม[33] และยังทำให้เกิดอุทกภัยเป็นบริเวณกว้างในหลายพื้นที่ รวมถึงมีบ้านเรือนเสียหายอย่างน้อย 1,500 หลัง[34]

พายุไต้ฝุ่นหวู่ติบ

พายุไต้ฝุ่น (JMA)
พายุไต้ฝุ่น (TMD)
พายุซูเปอร์ไต้ฝุ่นระดับ 5 (SSHWS)
ระยะเวลา18 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม
ความรุนแรง195 กม./ชม. (120 ไมล์/ชม.) (เฉลี่ย 10 นาที)
920 mbar (hPa; 27.17 inHg)
ชื่อท้องถิ่นของ PAGASA (ฟิลิปปินส์): เบตตี
  • วันที่ 16 กุมภาพันธ์ หย่อมความกดอากาศต่ำก่อตัวขึ้นทางด้านใต้ของหมู่เกาะมาร์แชลล์ โดยตัวหย่อมเริ่มมีการจัดระดับขึ้นขณะเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตก
  • วันที่ 18 กุมภาพันธ์ ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำอยู่ทางใต้ของสหพันธรัฐไมโครนีเซีย กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นได้ปรับให้ระบบเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อน
  • วันที่ 19 กุมภาพันธ์ ศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมปรับให้หย่อมความกดอากาศต่ำขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อนเช่นกัน
  • วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พายุดีเปรสชันเขตร้อนทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน และได้รับชื่อว่า หวู่ติบ (Wutip)
  • วันที่ 21 กุมภาพันธ์ หวู่ติบทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนกำลังแรง ก่อนที่จะเป็นพายุไต้ฝุ่นในช่วงปลายของวัน
  • วันที่ 23 กุมภาพันธ์ หวู่ติบทวีกำลังแรงขึ้นจนมีกำลังตามมาตราแซฟเฟอร์–ซิมป์สันเป็นพายุซูเปอร์ไต้ฝุ่นระดับ 4 โดยกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นวัดความเร็วลมสูงสุดใน 10 นาทีได้ 185 กม./ชม. และวัดความกดอากาศต่ำที่สุดได้ 925 hPa ส่วนศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมวัดความเร็วลมสูงสุดใน 1 นาทีได้ 250 กม./ชม. ขณะที่ตัวพายุกำลังเคลื่อนตัวอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกวม โดยนับเป็นพายุไต้ฝุ่นที่มีกำลังแรงที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ นับตั้งแต่พายุไต้ฝุ่นฮีโกส เมื่อปี พ.ศ. 2558[1] จากนั้นไม่นานหวู่ติบได้เข้าสู่วัฏจักรการแทนที่กำแพงตา ทำให้ตัวพายุอ่อนกำลังลงขณะกำลังเคลื่อนตัวเลี้ยวไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ[1]
  • วันที่ 24 กุมภาพันธ์ หวู่ติบเสร็จสิ้นวัฏจักรการแทนที่กำแพงตา และเริ่มกลับมาทวีกำลังแรงขึ้นอีกครั้ง
  • วันที่ 25 กุมภาพันธ์ หวู่ติบทวีกำลังแรงขึ้นจนมีความรุนแรงสูงสุด ด้วยความเร็วลมสูงสุดใน 10 นาทีที่ 195 กม./ชม. และความเร็วลมสูงสุดใน 1 นาทีที่ 260 กม./ชม. (เป็นพายุซูเปอร์ไต้ฝุ่นตามมาตราของศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วม) และมีความกดอากาศต่ำที่สุดที่ 920 hPa
  • วันที่ 26 กุมภาพันธ์ หวู่ติบได้เคลื่อนตัวเข้าสู่สภาพแวดล้อมที่มีลมเฉือนแนวตั้งกำลังปานกลาง และเริ่มอ่อนกำลังลง พร้อมทั้งเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตก
  • วันที่ 27 กุมภาพันธ์ หวู่ติบอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากได้สูญเสียโครงสร้างการพาความร้อนทั้งหมดไป จากการปะทะกับลมเฉือนที่เพิ่มขึ้นและอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลที่ลดลงด้วย
  • วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ในขณะที่บางหน่วยงานระบุว่าหวู่ติบได้สลายตัวไปแล้ว แต่ PAGASA ยังคงติดตามพายุอยู่ โดยให้ชื่อกับพายุว่า เบตตี (Betty) โดยหวู่ติบยังคงเคลื่อนตัวต่อไปในทะเลฟิลิปปิน และอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากลมเฉือนแนวตั้งที่มีกำลังแรง (40-50 นอต หรือ 75-95 กม./ชม.) และอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลที่ลดต่ำลง
  • วันที่ 2 มีนาคม หวู่ติบสลายตัว

การประมาณความเสียหายขั้นต้นในเกาะกวมจากพายุหวู่ติบอยู่ที่ 1.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 41 ล้านบาท)[35]

พายุโซนร้อนเซอปัต

พายุโซนร้อน (JMA)
พายุโซนร้อน (TMD)
ระยะเวลา17 – 28 มิถุนายน
ความรุนแรง75 กม./ชม. (45 ไมล์/ชม.) (เฉลี่ย 10 นาที)
994 mbar (hPa; 29.35 inHg)
ชื่อท้องถิ่นของ PAGASA (ฟิลิปปินส์): โดโดง
  • วันที่ 17 มิถุนายน กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นตรวจพบพายุดีเปรสชันเขตร้อนก่อตัวขึ้นเหนือบริเวณหมู่เกาะแคโรไลน์
  • วันที่ 18 มิถุนายน พายุดีเปรสชันเขตร้อนเคลื่อนตัวเลี้ยวไปทางตะวันออก ก่อนจะเบนตัวเข้าหาพื้นที่เปิดของมหาสมุทรแปซิฟิก
  • วันที่ 21 มิถุนายน พายุดีเปรสชันเขตร้อนเคลื่อนตัวกลับไปทางตะวันตกเฉียงเหนืออย่างช้า ๆ
  • วันที่ 22 มิถุนายน เวลา 07:00 UTC (19:00 น. ตามเวลาท้องถิ่นฟิลิปปินส์) พายุดีเปรสชันเขตร้อนเคลื่อนตัวเข้าสู่พื้นที่รับผิดชอบของ PAGASA ในทะเลฟิลิปปิน แต่ PAGASA ยังไม่ได้จัดให้ระบบเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อน
  • วันที่ 24 มิถุนายน พายุเคลื่อนตัวไปทางตะวันออกเฉียงเหนือและผ่านเข้าใกล้เกาะลูซอน
  • วันที่ 25 มิถุนายน พายุดีเปรสชันเขตร้อนมีกำลังแรงพอที่ PAGASA จะจัดให้ระบบเป็นพายุหมุนเขตร้อน และให้ชื่อ โดโดง (Dodong) กับพายุ โดยพายุดีเปรสชันเขตร้อนเคลื่อนตัวเลี้ยวไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ หลังจากผ่านใกล้เกาะลูซอนไปแล้ว
  • วันที่ 27 มิถุนายน พายุเริ่มเคลื่อนไปประชิดแผ่นดินหลักของประเทศญี่ปุ่นจากทางใต้ ต่อมาได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนและได้รับชื่อว่า เซอปัต (Sepat) โดยพายุเซอปัตเคลื่อนตัวเลี้ยวไปทางตะวันออกตามแนวชายฝั่งภาคใต้ของประเทศญี่ปุ่น
  • วันที่ 28 มิถุนายน พายุเซอปัตเปลี่ยนผ่านเป็นพายุหมุนนอกเขตร้อน และเร่งเคลื่อนตัวไปทางตะวันออก

พายุลูกนี้ไม่ถูกติดตามโดยศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วม อย่างไรก็ตาม มันถูกจัดให้เป็นพายุกึ่งโซนร้อน ด้วยความเร็วลมต่อเนื่องใน 1 นาที 75 กม./ชม.[36] ในลักษณะที่คล้ายกับกรณีของพายุโซนร้อนมิแทกเมื่อปี 2557

พายุโซนร้อนมูน

พายุโซนร้อน (JMA)
พายุโซนร้อน (TMD)
พายุโซนร้อน (SSHWS)
ระยะเวลา1 – 4 กรกฎาคม
ความรุนแรง65 กม./ชม. (40 ไมล์/ชม.) (เฉลี่ย 10 นาที)
992 mbar (hPa; 29.29 inHg)
  • วันที่ 1 กรกฎาคม พายุดีเปรสชันเขตร้อนก่อตัวขึ้นในทะเลจีนใต้ใกล้กับหมู่เกาะแพราเซล
  • วันที่ 2 กรกฎาคม พายุดีเปรสชันเขตร้อนทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน และได้รับชื่อว่า มูน (Mun) ต่อมาพายุมูนได้พัดขึ้นฝั่งบนเกาะไหหนัน อย่างไรก็ตาม ศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมยังไม่ได้ปรับให้ระบบเป็นพายุโซนร้อน
  • วันที่ 3 กรกฎาคม หลังพายุเคลื่อนตัวผ่านอ่าวตังเกี๋ยใกล้จะไปยังชายฝั่งประเทศเวียดนามแล้ว ศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมได้ปรับให้ตัวพายุเป็นพายุโซนร้อน
  • วันที่ 4 กรกฎาคม เวลา 04:30 ถึง 05:00 น. ตามเขตเวลาอินโดจีน พายุมูนได้พัดขึ้นฝั่งที่จังหวัดท้ายบิ่ญในภาคเหนือของประเทศเวียดนาม[37] จากนั้นได้เคลื่อนตัวต่อเข้าไปในแผ่นดินพร้อมทั้งอ่อนกำลังลง ก่อนจะสลายตัวลงไปในช่วงปลายของวัน

สะพานในอำเภอหนึ่งของจังหวัดทัญฮว้าได้รับความเสียหายจากพายุ มีผู้เสียชีวิต 2 คนและได้รับบาดเจ็บ 3 คน นอกจากนี้ยังมีความเสียหายเกิดขึ้นกับเสาไฟฟ้าในจังหวัดเอียนบ๊ายด้วย โดยมีความเสียหายอยู่ที่ 5.6 พันล้านด่ง (240,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7.4 ล้านบาท)[37] และยังมีความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้าด้วย โดยมีการประมาณความเสียหายที่ 2 พันล้านด่ง (86,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.6 ล้านบาท)[38]

พายุโซนร้อนดานัส

พายุโซนร้อน (JMA)
พายุโซนร้อน (TMD)
พายุโซนร้อน (SSHWS)
ระยะเวลา14 – 21 กรกฎาคม
ความรุนแรง85 กม./ชม. (50 ไมล์/ชม.) (เฉลี่ย 10 นาที)
985 mbar (hPa; 29.09 inHg)
ชื่อท้องถิ่นของ PAGASA (ฟิลิปปินส์): ฟัลโกน
  • วันที่ 12 กรกฎาคม หย่อมความกดอากาศต่ำก่อตัวขึ้นใกล้กับหมู่เกาะมาเรียนา ต่อมาระบบเคลื่อนตัวไปทางด้านตะวันตกอย่างช้า ๆ
  • วันที่ 14 กรกฎาคม หย่อมความกดอากาศต่ำทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อนทางตะวันตกเฉียงใต้ของหมู่เกาะมาเรียนา และเคลื่อนตัวเข้าสู่พื้นที่รับผิดชอบของฟิลิปปินส์ ทำให้ PAGASA ให้ชื่อกับระบบว่า ฟัลโกน (Falcon) หลังจากนั้น ระบบมีการจัดระเบียบขึ้นขณะเคลื่อนตัวเข้าใกล้เกาะลูซอน
  • วันที่ 16 กรกฎาคม พายุดีเปรสชันเขตร้อนทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน และได้รับชื่อจากกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นว่า ดานัส (Danas) หลังจากนั้นไม่นาน ในเวลา 12:00 UTC ศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมก็ปรับให้ระบบเป็นพายุโซนร้อนเช่นกัน
  • วันที่ 17 กรกฎาคม เวลา 12:30 น. ตามเวลาท้องถิ่นประเทศฟิลิปปินส์ PAGASA รายงานว่าพายุดานัส (ฟัสโกน) ได้เคลื่อนตัวขึ้นฝั่งที่เทศบาลเมืองกาตตารัน จังหวัดคากายัน และพัดวนอยู่เหนือแผ่นดิน อย่างไรก็ตาม ศูนย์กลางการหมุนเวียนของพายุดานัสยังคงอยู่นอกชายฝั่งของเกาะลูซอน และทั้งกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นและศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมต่างไม่ได้รายงานว่าพายุมีการขึ้นฝั่งแต่อย่างใด ทั้งนี้ลมเฉือนฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือได้พัดให้การหมุนเวียนส่วนมากของดานัสเยื้องไปทางตะวันตกเสียมาก และยังมีหย่อมความกดอากาศต่ำก่อตัวขึ้นทางด้านตะวันออกของเกาะลูซอนด้วย ลักษณะเช่นนี้นำไปสู่การก่อตัวของหย่อมความกดอากาศต่ำอีกหย่อมเหนือด้านตะวันตกของฟิลิปปินส์ ซึ่งหย่อมความกดอากาศนี้ได้พัฒนาขึ้นเป็นเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อน (โกริง) ต่อไป
  • วันที่ 19 กรกฎาคม กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นรายงานว่าพายุดานัสมีกำลังสูงสุดที่ความเร็วลม 85 กม./ชม. และหลังจากนั้นดานัสจึงเริ่มอ่อนกำลังลง
  • วันที่ 20 กรกฎาคม เวลาประมาณ 13:00 UTC พายุดานัสเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งที่จังหวัดช็อลลาเหนือ ประเทศเกาหลีใต้ ก่อนจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อนไม่นานหลังจากนั้น
  • วันที่ 21 กรกฎาคม ที่เวลา 12:45 UTC ดานัสเปลี่ยนผ่านไปเป็นความกดอากาศต่ำนอกเขตร้อนในทะเลญี่ปุ่น และกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นได้ออกคำเตือนสุดท้ายกับระบบ

ในประเทศฟิลิปปินส์ อุทกภัยที่เกิดจากอิทธิพลของพายุดานัสทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 4 คน[39] มีความเสียหายทางการเกษตรเกิดขึ้นในจังหวัดคันลูรังเนโกรสคำนวณได้ 19 ล้านเปโซ (372,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 11 ล้านบาท)[40] ขณะที่ความเสียหายทางการเกษตรในจังหวัดฮีลากังลาเนานั้นสูงถึง 277.8 ล้านเปโซ (5.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 162 ล้านบาท)[41] ในประเทศเกาหลีใต้ ดานัสทำให้เกิดสภาพพายุไปทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากตัวพายุนั้นค่อนข้างน้อย ฝนที่ตกอย่างหนักทำให้วัดปริมาณน้ำฝนได้ 329.5 มิลลิเมตร (12.97 นิ้ว) ที่พอร์ตแฮมิลตัน[42] มีชายคนหนึ่งเสียชีวิตจากการถูกคลื่นแรงซัด[43] ผลกระทบในจังหวัดช็อลลาใต้อยู่ที่ 395 ล้านวอน (336,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 9.9 ล้านบาท)[44] ขณะที่ความเสียหายในเกาะเชจูสูงถึง 322 ล้านวอน (274,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8.1 ล้านบาท)[45] นอกจากนี้ ดานัสยังทำให้เกิดน้ำป่าในคีวชูของญี่ปุ่นด้วย โดยมีผู้เสียชีวิตหนึ่งคนเป็นเด็กผู้ชายอายุสิบเอ็ดปี[46]

พายุโซนร้อนนารี

พายุโซนร้อน (JMA)
พายุโซนร้อน (TMD)
พายุโซนร้อน (SSHWS)
ระยะเวลา24 – 28 กรกฎาคม
ความรุนแรง65 กม./ชม. (40 ไมล์/ชม.) (เฉลี่ย 10 นาที)
998 mbar (hPa; 29.47 inHg)
  • วันที่ 21 กรกฎาคม ศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมได้เริ่มติดตามหย่อมความกดอากาศต่ำซึ่งเป็นเศษที่หลงเหลือของพายุดีเปรสชันเขตร้อนที่สลายตัวไปเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม เนื่องจากการมีศักยภาพที่จะก่อตัวเป็นพายุหมุนเขตร้อนได้ และเนื่องด้วยภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมระบบจึงมีการจัดระบบตัวเองขึ้น
  • วันที่ 24 กรกฎาคม เวลา 00:00 UTC หย่อมความกดอากาศต่ำก่อตัวขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อน ขณะอยู่ทางตะวันตกของหมู่เกาะโบนิน โดยตัวพายุมีการจัดระบบอย่างต่อเนื่องขณะเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเฉเหนือ
  • วันที่ 25 กรกฎาคม ศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมได้จัดให้พายุเป็นพายุโซนร้อน และให้รหัสเรียกว่า 07W
  • วันที่ 26 กรกฎาคม พายุดีเปรสชันเขตร้อนได้ทวีกำลังขึ้นเป็นพายุโซนร้อน และได้รับชื่อจากกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นว่า นารี (Nari) ขณะกำลังเคลื่อนตัวไปทางเหนือ พายุนารีได้พัดเข้าประชิดประเทศญี่ปุ่นจากทางใต้และพัดขึ้นฝั่ง จากนั้นจึงอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อน จากนั้นจึงได้อ่อนกำลังเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำที่หลงเหลือตามลำดับ

พายุโซนร้อนวิภา

พายุโซนร้อน (JMA)
พายุโซนร้อน (TMD)
พายุโซนร้อน (SSHWS)
ระยะเวลา30 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม
ความรุนแรง85 กม./ชม. (50 ไมล์/ชม.) (เฉลี่ย 10 นาที)
985 mbar (hPa; 29.09 inHg)
  • วันที่ 30 กรกฎาคม พายุดีเปรสชันก่อตัวขึ้นในทะเลจีนใต้บริเวณใกล้กับหมู่เกาะพาราเซลและเกาะไหหนัน
  • วันที่ 30 กรกฎาคม พายุได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน และได้รับชื่อจากกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นว่า วิภา (Wipha) ทั้งนี้ศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมก็ปรับให้ตัวพายุดีเปรสชันเป็นพายุโซนร้อนด้วย
  • วันที่ 2 สิงหาคม พายุโซนร้อนวิภาพัดขึ้นฝั่งในประเทศเวียดนาม และอ่อนกำลังลงตามลำดับ
  • วันที่ 3 สิงหาคม พายุวิภาสลายตัวลง

ในประเทศเวียดนาม มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 27 คน โดยมีผลกระทบหนักที่สุดอยู่ที่จังหวัดทัญฮว้า ซึ่งมียอดผู้เสียชีวิตเพียงจังหวัดเดียวถึง 16 คน[47] และมีความสูญเสียเกิดขึ้นถึง 1 ล้านล้านด่ง (43.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.3 พันล้านบาท)[48] ขณะที่ความเสียหายในจังหวัดเซินลาสูงถึง 2.8 หมื่นล้านด่ง (1.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 36 ล้านบาท)[49]

พายุไต้ฝุ่นซานฟรานซิสโก

พายุไต้ฝุ่น (JMA)
พายุไต้ฝุ่น (TMD)
พายุไต้ฝุ่นระดับ 1 (SSHWS)
ระยะเวลา1 – 7 สิงหาคม
ความรุนแรง130 กม./ชม. (80 ไมล์/ชม.) (เฉลี่ย 10 นาที)
970 mbar (hPa; 28.64 inHg)

พายุไต้ฝุ่นเลกีมา

พายุไต้ฝุ่น (JMA)
พายุไต้ฝุ่น (TMD)
พายุซูเปอร์ไต้ฝุ่นระดับ 4 (SSHWS)
ระยะเวลา2 – 14 สิงหาคม
ความรุนแรง195 กม./ชม. (120 ไมล์/ชม.) (เฉลี่ย 10 นาที)
920 mbar (hPa; 27.17 inHg)
ชื่อท้องถิ่นของ PAGASA (ฟิลิปปินส์): ฮันนา

พายุไต้ฝุ่นกรอซา

พายุไต้ฝุ่น (JMA)
พายุไต้ฝุ่น (TMD)
พายุไต้ฝุ่นระดับ 3 (SSHWS)
ระยะเวลา5 – 16 สิงหาคม
ความรุนแรง155 กม./ชม. (100 ไมล์/ชม.) (เฉลี่ย 10 นาที)
950 mbar (hPa; 28.05 inHg)

พายุโซนร้อนกำลังแรงไป๋ลู่

พายุโซนร้อนกำลังแรง (JMA)
พายุโซนร้อน (TMD)
พายุโซนร้อน (SSHWS)
ระยะเวลา20 – 26 สิงหาคม
ความรุนแรง95 กม./ชม. (60 ไมล์/ชม.) (เฉลี่ย 10 นาที)
985 mbar (hPa; 29.09 inHg)
ชื่อท้องถิ่นของ PAGASA (ฟิลิปปินส์): อีเนง
  • วันที่ 20 สิงหาคม พายุดีเปรสชันเขตร้อนก่อตัวขึ้นทางตะวันตกของหมู่เกาะมาเรียนา
  • วันที่ 21 สิงหาคม กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นได้ปรับให้ระบบเป็นพายุโซนร้อน และให้ชื่อว่า ไป๋ลู่ (Bailu) และศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมได้จัดให้ระบบเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อนและใช้รหัสเรียกขานว่า 12W โดยไป๋ลู่ได้ทวีกำลังแรงขึ้นอย่างค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไปในทะเลฟิลิปปิน
  • วันที่ 24 สิงหาคม เวลา 05:00 UTC (13:00 ตามเวลาท้องถิ่นไต้หวัน) ไป๋ลู่พัดขึ้นฝั่งที่เขตหมานโซ ผิงตง ไต้หวัน[50]

แม้ว่าไป๋ลู่จะไม่ได้พัดขึ้นฝั่งในประเทศฟิลิปปินส์ แต่ก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนสองคนในจังหวัดฮีลากังอีโลโคส[51] และสร้างความเสียหายในพื้นที่ 1.1 พันล้านเปโซ (21 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)[52] ในประเทศไต้หวัน ไป๋ลู่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่งคน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนเก้าคน[53] สถาบันความเสียหายได้คำนวณความเสียหายไว้ที่ 2.31 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน (74,000 ดอลลาร์สหรัฐ)[54] ขณะที่ความเสียหายทางการเกษตรสูงถึง 175 ล้านดอลลาร์ไต้หวัน (5.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)[55] ส่วนในประเทศจีน ความเสียหายในมณฑลฝูเจี้ยนสูงถึง 10.49 ล้านหยวน (1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)[56]

พายุโซนร้อนโพดุล

พายุโซนร้อน (JMA)
พายุโซนร้อน (TMD)
พายุโซนร้อน (SSHWS)
ระยะเวลา25 – 31 สิงหาคม
ความรุนแรง85 กม./ชม. (50 ไมล์/ชม.) (เฉลี่ย 10 นาที)
992 mbar (hPa; 29.29 inHg)
ชื่อท้องถิ่นของ PAGASA (ฟิลิปปินส์): เจนนี
  • วันที่ 25 สิงหาคม กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นเริ่มติดตามพายุดีเปรสชันเขตร้อนที่อยู่บริเวณใกล้กับอะทอลล์อีฟาลิกในมหาสมุทรแปซิฟิก
  • วันที่ 26 สิงหาคม PAGASA ให้ชื่อกับพายุดีเปรสชันเขตร้อนว่า เจนนี (Jenny) ส่วนศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมได้ให้รหัสเรียกพายุนี้ว่า 13W
  • วันที่ 27 สิงหาคม ระบบได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนและได้รับชื่อว่า โพดุล (Podul) ต่อมาโพดุลได้พัดขึ้นฝั่งครั้งแรกที่เทศบาลคาซิกูรัน จังหวัดเอาโรรา ประเทศฟิลิปปินส์ ในเวลา 10:40 น. ตามเวลาในประเทศฟิลิปปินส์ (14:40 UTC)[57] จากนั้นโพดุลได้เคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ และมุ่งหน้าสู่ประเทศเวียดนามต่อไป
  • วันที่ 29 สิงหาคม โพดุลพัดขึ้นฝั่งอีกครั้งที่เมืองด่งเฮ้ย จังหวัดกว๋างบิ่ญ ประเทศเวียดนาม ในเวลา 05:00 UTC (เวลา 00:30 น. ตามเขตเวลาอินโดจีน) โดยโพดุลยังคงเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกอย่างต่อเนื่อง[58]
  • วันที่ 30 สิงหาคม โพดุลเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณอำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม ในเวลา 05:30 น. ตามเวลาในประเทศไทย ด้วยความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางที่ 65 กม./ชม. [59] นับเป็นพายุหมุนเขตร้อนลูกที่สองของฤดูกาลนี้ที่พัดเข้าสู่ประเทศไทยด้วยความรุนแรงระดับพายุโซนร้อน โดยต่อมาพายุโพดุลได้เคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกอย่างต่อเนื่องและอ่อนกำลังลงตามลำดับ โดยอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อนบริเวณจังหวัดนครพนม[60] และอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณจังหวัดเลยตามลำดับ[61]

ในประเทศฟิลิปปินส์ จังหวัดซีลางังเนโกรส มีชายถูกน้ำพัดไปเนื่องจากคลื่นที่โหมแรง โดยเขาถูกพบเสียชีวิตในเวลาต่อมา[62] และมีผู้เสียชีวิตจากทอร์นาโดพัดเข้าในเขตต่านโจว มณฑลไหหลำ อย่างน้อย 8 คน[63]

พายุไต้ฝุ่นฟ้าใส

พายุไต้ฝุ่น (JMA)
พายุไต้ฝุ่น (TMD)
พายุไต้ฝุ่นระดับ 4 (SSHWS)
ระยะเวลา30 สิงหาคม – 10 กันยายน
ความรุนแรง155 กม./ชม. (100 ไมล์/ชม.) (เฉลี่ย 10 นาที)
955 mbar (hPa; 28.2 inHg)
  • วันที่ 29 สิงหาคม เวลา 18:00 UTC พายุดีเปรสชันเขตร้อนก่อตัวขึ้นทางตะวันออกของเส้นแบ่งเขตวันสากล โดยมีทิศทางการเคลื่อนตัวไปทางตะวันตกข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก

พายุโซนร้อนคาจิกิ

พายุโซนร้อน (JMA)
พายุโซนร้อน (TMD)
พายุดีเปรสชันเขตร้อน (SSHWS)
ระยะเวลา30 สิงหาคม – 7 กันยายน
ความรุนแรง65 กม./ชม. (40 ไมล์/ชม.) (เฉลี่ย 10 นาที)
996 mbar (hPa; 29.41 inHg)
ชื่อท้องถิ่นของ PAGASA (ฟิลิปปินส์): กาบายัน
  • วันที่ 30 สิงหาคม พายุดีเปรสชันเขตร้อนก่อตัวขึ้นทางทิศตะวันออกของเกาะลูซอน จากนั้นตัวระบบอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำเป็นเวลาสั้น ๆ และอีกหกชั่วโมงต่อมาจึงได้ทวีกำลังกลับขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อนอีกครั้ง
  • วันที่ 31 สิงหาคม ระบบเคลื่อนตัวผ่านหมู่เกาะบาตาเนส โดย PAGASA ได้ปรับให้ระบบเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อน และให้ชื่อกับระบบว่า กาบายัน (Kabayan)[64] ต่อมาศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมได้ออกการแจ้งเตือนการก่อตัวของพายุหมุนเขตร้อนกับระบบ[65] ต่อมากาบายันได้เคลื่อนตัวออกจากพื้นที่รับผิดชอบของฟิลิปปินส์ (PAR) และ PAGASA ได้ออกการเตือนฉบับสุดท้ายกับระบบ[66]

พายุไต้ฝุ่นเหล่งเหลง

พายุไต้ฝุ่น (JMA)
พายุไต้ฝุ่น (TMD)
พายุไต้ฝุ่นระดับ 4 (SSHWS)
ระยะเวลา31 สิงหาคม – 7 กันยายน
ความรุนแรง<165 กม./ชม. (105 ไมล์/ชม.) (เฉลี่ย 10 นาที)
940 mbar (hPa; 27.76 inHg)

พายุโซนร้อนเผ่ย์ผ่า

พายุโซนร้อน (JMA)
พายุโซนร้อน (TMD)
พายุโซนร้อน (SSHWS)
ระยะเวลา13 – 16 กันยายน
ความรุนแรง65 กม./ชม. (40 ไมล์/ชม.) (เฉลี่ย 10 นาที)
1000 mbar (hPa; 29.53 inHg)

พายุไต้ฝุ่นตาปะฮ์

พายุไต้ฝุ่น (JMA)
พายุไต้ฝุ่น (TMD)
พายุโซนร้อน (SSHWS)
ระยะเวลา17 – 22 กันยายน
ความรุนแรง120 กม./ชม. (75 ไมล์/ชม.) (เฉลี่ย 10 นาที)
970 mbar (hPa; 28.64 inHg)

พายุไต้ฝุ่นมิแทก

พายุไต้ฝุ่น (JMA)
พายุไต้ฝุ่น (TMD)
พายุไต้ฝุ่นระดับ 3 (SSHWS)
ระยะเวลา25 กันยายน – 3 ตุลาคม
ความรุนแรง155 กม./ชม. (100 ไมล์/ชม.) (เฉลี่ย 10 นาที)
965 mbar (hPa; 28.5 inHg)
ชื่อท้องถิ่นของ PAGASA (ฟิลิปปินส์): โอนโยก

พายุไต้ฝุ่นฮากีบิส

พายุไต้ฝุ่น (JMA)
พายุไต้ฝุ่น (TMD)
พายุซูเปอร์ไต้ฝุ่นระดับ 5 (SSHWS)
ระยะเวลา4 – 13 ตุลาคม
ความรุนแรง195 กม./ชม. (120 ไมล์/ชม.) (เฉลี่ย 10 นาที)
915 mbar (hPa; 27.02 inHg)
  • วันที่ 2 ตุลาคม ศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วม (JTWC) เริ่มติดตามหย่อมความกดอากาศต่ำที่ตั้งอยู่บริเวณด้านเหนือของหมู่เกาะมาเรียนา
  • วันที่ 3 ตุลาคม JTWC ได้ออกคำแนะนำซึ่งมีการปรับสถานะตัวหย่อมเป็น "มีโอกาสสูงของการพัฒนาขึ้นเป็นพายุหมุนเขตร้อนภายใน 24 ชั่วโมง" นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า ตัวหย่อมนั้นมีโอกาสสูงที่จะเกิดการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • วันที่ 4 ตุลาคม JTWC ออกการแจ้งเตือนการก่อตัวของพายุหมุนเขตร้อนกับระบบ และกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น (JMA) ได้ออกคำแนะนำสำหรับพายุดีเปรสชันเขตร้อน 20W ซึ่งเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อนลำดับที่ 38 ของฤดูพายุไต้ฝุ่นแปซิฟิก พ.ศ. 2562 นี้
  • วันที่ 5 ตุลาคม พายุดีเปรสชันเขตร้อนทวีกำลังแรงขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นพายุโซนร้อน และได้รับชื่อจาก JMA ว่า ฮากีบิส (Hagibis) เนื่องจากอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลและปริมาณลมเฉือนในระดับที่ต่ำ ทำให้ตัวพายุนั้นทวีกำลังแรงขึ้นได้ต่อเนื่อง
  • วันที่ 6 ตุลาคม พายุฮากีบิสทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนกำลังแรง
  • วันที่ 7 ตุลาคม ขณะที่พายุฮากีบิสกำลังเคลื่อนตัวไปทางตะวันตกอยู่นั้น พายุฮากีบิสได้ทวีกำลังแรงขึ้นอย่างระเบิด (explosively) เป็นพายุซูเปอร์ไต้ฝุ่นภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง และมีการพัฒนาตาขนาดรูเข็มขึ้น ขณะที่ตัวพายุได้ประชิดกับพื้นที่ไม่มีคนอยู่อาศัยของหมู่เกาะมาเรียนา กิจกรรมการพาความร้อนที่รุนแรงอันเป็นผลมาจากปัจจัยสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยอย่างสุดขั้วนั้น ทำให้ตัวพายุมีกำลังอย่างรุนแรงที่ระดับพายุซูเปอร์ไต้ฝุ่นเทียบเท่าพายุระดับ 5 ตามมาตราลมเฮอริเคนแซฟเฟอร์–ซิมป์สัน โดยมีความเร็วลมสูงสุดต่อเนื่องใน 1 นาทีที่ 260 กม./ชม. ขณะที่บริการลมฟ้าอากาศแห่งชาติสหรัฐ ได้เริ่มออกคำแนะนำกับพื้นที่ที่หน่วยงานรับผิดชอบ โดยมีการเตือนพายุไต้ฝุ่นในการาปันและติเนียน และเตือนพายุโซนร้อนในซินาปาโลและฮากัตญา[67] พายุฮากีบิสเคลื่อนตัวผ่านหมู่เกาะมาเรียนาในเวลา 15:30 UTC ด้วยความรุนแรงสูงสุด ความเร็วลมต่อเนื่องใน 10 นาทีที่ 195 กม./ชม. และความกดอากาศที่ศูนย์กลาง 915 hPa
  • วันที่ 8 ตุลาคม หลังจากที่ตัวพายุเคลื่อนผ่านหมู่เกาะมาเรียนาไปแล้ว ฮากีบิสเริ่มเข้าสู่วัฏจักรการแทนที่กำแพงตา ซึ่งเป็นสาเหตุให้การทวีกำลังแรงขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นสิ้นสุดลง และเมื่อกำแพงตาหลักเริ่มกร่อนลง[68] JTWC จึงได้ปรับลดความรุนแรงของระบบพายุลงเล็กน้อยเป็น พายุระดับ 4 ขั้นสูงสุด ในเวลา 00:00 UTC อีกหลายชั่วโมงต่อมา พายุฮากีบิสได้กลับทวีกำลังแรงขึ้นอีกครั้งเป็นพายุระดับ 5 เมื่อวัฏจักรการแทนที่กำแพงตานั้นสิ้นสุดลง
  • วันที่ 10 ตุลาคม หลังจากที่ตัวพายุรักษาความรุนแรงอย่างค่อนข้างคงที่มาหลายวัน ฮากีบิสเริ่มอ่อนกำลังลงในเวลา 12:00 UTC ต่อมาในเวลา 13:30 UTC เริ่มมีการคาดการณ์ถึงผลกระทบกับส่วนของประเทศญี่ปุ่น เช่น ผู้จัดงานรักบี้ชิงแชมป์โลก 2019 ได้ตัดสินใจยกเลิกการแข่งขันอย่างน้อยสองแมตช์ซึ่งเดิมกำหนดไว้ว่าจะแข่งขันในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์[69] นอกจากนี้ยังมีกลุ่มบริษัทรถไฟญี่ปุ่น, เจแปนแอร์ไลน์ และออล นิปปอน แอร์เวย์ที่ออกประกาศยุติการให้บริการทั้งหมด[70]
  • วันที่ 11 ตุลาคม ฟอร์มูลาวันประกาศยกเลิกรายการการแข่งขันทั้งหมดที่วางไว้ในวันเสาร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเจแปนนิสกรังด์ปรีซ์ 2019 ซึ่งประกอบด้วย การฝึกซ้อมครั้งที่สามและการคัดเลือก โดยมีกำหนดจัดใหม่ในช่วงเช้าวันอาทิตย์ ไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่การแข่งขันจะเริ่มขึ้น[71] ส่วนเอฟโฟร์เจแปนนิสแชมเปียนชิป ซึ่งได้ประกาศไปก่อนหน้าแล้วว่าจะยกเลิกการแข่งขันรอบสองที่จังหวัดชิซูโอกะ ซึ่งแต่เดิมถูกกำหนดไว้เป็นกิจกรรมสนับสนุนเจแปนนิสกรังด์ปรีซ์[72]
  • วันที่ 12 ตุลาคม พายุไต้ฝุ่นฮากีบิสเคลื่อนตัวประชิดกับชายฝั่งภาคใต้ของประเทศญี่ปุ่น โดยกรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นได้ประกาศการเตือนภัยลมฟ้าอากาศฉุกเฉิน สำหรับฝนตกหนักซึ่งมีศักยภาพที่จะก่อให้เกิดอุทกภัยและแผ่นดินถล่มได้ในหลายภูมิภาค ในจังหวัดชิซูโอกะ, จังหวัดยามานาชิ, จังหวัดนางาโนะ, จังหวัดคานางาวะ, จังหวัดไซตามะ, จังหวัดกุมมะ และโตเกียว[73] การออกการเตือนภัยลมฟ้าอากาศฉุกเฉินนั้นระบุว่า "มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดภัยพิบัติอย่างสูง" และ "เป็นปรากฏการณ์ไม่ปกติในระดับที่ชาวท้องถิ่นไม่เคยประสบมาก่อนอาจเกิดชึ้น"[74] และภายหลังยังมีการออกคำเตือนเพิ่มในไม่กี่ชั่วโมงต่อมาในจังหวัดนีงาตะ, จังหวัดโทจิงิ, จังหวัดอิบารากิ, จังหวัดฟูกูชิมะ, จังหวัดอิวาเตะ และจังหวัดมิยางิ[75] ต่อมาพายุไต้ฝุ่นฮากีบิสได้การพัดขึ้นฝั่งที่คาบสมุทรอิซุในด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะฮนชู ในเวลา 09:00 UTC โดยมีความเร็วลมต่อเนื่องใน 10 นาทีที่ 150 กม./ชม. และความเร็วลมต่อเนื่องใน 1 นาทีที่ 155 กม./ชม. เทียบเท่ากับพายุเฮอริเคนระดับ 2[76][77]รายงานจำนวนผู้เสียชีวิตรวม 49 ราย[78]

พายุไต้ฝุ่นนอกูรี

พายุไต้ฝุ่น (JMA)
พายุไต้ฝุ่น (TMD)
พายุไต้ฝุ่นระดับ 2 (SSHWS)
ระยะเวลา15 – 21 ตุลาคม
ความรุนแรง140 กม./ชม. (85 ไมล์/ชม.) (เฉลี่ย 10 นาที)
970 mbar (hPa; 28.64 inHg)
ชื่อท้องถิ่นของ PAGASA (ฟิลิปปินส์): เปร์ลา

พายุไต้ฝุ่นบัวลอย

พายุไต้ฝุ่น (JMA)
พายุไต้ฝุ่น (TMD)
พายุไต้ฝุ่นระดับ 4 (SSHWS)
ระยะเวลา18 – 25 ตุลาคม
ความรุนแรง185 กม./ชม. (115 ไมล์/ชม.) (เฉลี่ย 10 นาที)
935 mbar (hPa; 27.61 inHg)

พายุโซนร้อนกำลังแรงแมตโม

พายุโซนร้อนกำลังแรง (JMA)
พายุโซนร้อน (TMD)
พายุโซนร้อน (SSHWS)
ระยะเวลา28 – 31 ตุลาคม
ความรุนแรง95 กม./ชม. (60 ไมล์/ชม.) (เฉลี่ย 10 นาที)
992 mbar (hPa; 29.29 inHg)

วันที่ 28 ตุลาคม พายุดีเปรสชันก่อตัวขึ้นใกล้เกาะปาเลาและพัดขึ้นฝั่งที่ประเทศเวียดนามในวันที่ 30 ตุลาคม ขณะมีกำลังเป็นพายุโซนร้อนชื่อว่า แมตโม (Matmo)[79] โดยพายุแมตโมมีกำลังสูงสุดเป็นพายุโซนร้อนกำลังแรงด้วยความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง 95 กม./ชม. และความกดอากาศต่ำที่สุด 992 เฮกโตปาสกาล แมตโมทำให้เกิดฝนตกในประเทศกัมพูชาและประเทศไทย ขณะที่เกิดฝนตกอย่างหนักที่สุดในประเทศเวียดนาม ทำให้เกิดอุทกภัยและมีการปิดถนนหลายสาย[80][81] หลังจากพัดขึ้นฝั่งแล้ว พายุอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็วเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อน ขณะที่ส่วนที่เหลือของพายุแมตโมได้เคลื่อนตัวต่อไปผ่านประเทศไทยลงสู่มหาสมุทรอินเดียในวันที่ 2 พฤศจิกายน[82] และได้ทวีกำลังขึ้นใหม่อีกครั้งเป็นพายุไซโคลนกำลังแรงมากบุลบูล

พายุไต้ฝุ่นหะลอง

พายุไต้ฝุ่น (JMA)
พายุไต้ฝุ่น (TMD)
พายุซูเปอร์ไต้ฝุ่นระดับ 5 (SSHWS)
ระยะเวลา2 – 9 พฤศจิกายน
ความรุนแรง215 กม./ชม. (130 ไมล์/ชม.) (เฉลี่ย 10 นาที)
905 mbar (hPa; 26.72 inHg)

ดูเพิ่มเติมที่ : พายุไต้ฝุ่นหะลอง (พ.ศ. 2562)

พายุไต้ฝุ่นนากรี

พายุไต้ฝุ่น (JMA)
พายุไต้ฝุ่น (TMD)
พายุไต้ฝุ่นระดับ 1 (SSHWS)
ระยะเวลา4 – 11 พฤศจิกายน
ความรุนแรง120 กม./ชม. (75 ไมล์/ชม.) (เฉลี่ย 10 นาที)
975 mbar (hPa; 28.79 inHg)

พายุไต้ฝุ่นเฟิงเฉิน

พายุไต้ฝุ่น (JMA)
พายุไต้ฝุ่น (TMD)
พายุไต้ฝุ่นระดับ 3 (SSHWS)
ระยะเวลา10 – 18 พฤศจิกายน
ความรุนแรง155 กม./ชม. (100 ไมล์/ชม.) (เฉลี่ย 10 นาที)
965 mbar (hPa; 28.5 inHg)

พายุไต้ฝุ่นคัลแมกี

พายุไต้ฝุ่น (JMA)
พายุไต้ฝุ่น (TMD)
พายุไต้ฝุ่นระดับ 1 (SSHWS)
ระยะเวลา11 พฤศจิกายน – ปัจจุบัน
ความรุนแรง120 กม./ชม. (75 ไมล์/ชม.) (เฉลี่ย 10 นาที)
980 mbar (hPa; 28.94 inHg)
ชื่อท้องถิ่นของ PAGASA (ฟิลิปปินส์): ราโมน

พายุโซนร้อนกำลังแรงฟงวอง

พายุโซนร้อนกำลังแรง (JMA)
พายุโซนร้อน (TMD)
พายุไต้ฝุ่นระดับ 1 (SSHWS)
ระยะเวลา18 – 23 พฤศจิกายน
ความรุนแรง100 กม./ชม. (65 ไมล์/ชม.) (เฉลี่ย 10 นาที)
990 mbar (hPa; 29.23 inHg)
ชื่อท้องถิ่นของ PAGASA (ฟิลิปปินส์): ซาราห์

พายุไต้ฝุ่นคัมมูริ

พายุไต้ฝุ่น (JMA)
พายุไต้ฝุ่น (TMD)
พายุไต้ฝุ่นระดับ 4 (SSHWS)
ระยะเวลา24 พฤศจิกายน – 6 ธันวาคม
ความรุนแรง165 กม./ชม. (105 ไมล์/ชม.) (เฉลี่ย 10 นาที)
950 mbar (hPa; 28.05 inHg)
ชื่อท้องถิ่นของ PAGASA (ฟิลิปปินส์): ตีโซย

วันที่ 23 พฤศจิกายน หย่อมความกดอากาศก่อตัวขึ้นทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะกวม และเริ่มแสดงสัญญาณของการพัฒนาและมีการหมุนเวียนที่ดี และได้ก่อตัวขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันเขตร้อนในวันที่ 25 พฤศจิกายน พร้อมกันนี้ศูนย์เตือนไต้ฝุ่นร่วมได้ให้รหัสเรียกขานกับพายุว่า 29W พายุดีเปรสชันเริ่มมีการพัฒนาลักษณะแถบฝนทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของศูนย์กลาง ต่อมาจึงได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน และได้รับชื่อว่า คัมมูริ (Kammuri) โดยพายุโซนร้อนคัมมูริได้เคลื่อนตัวผ่านทางใต้ของเกาะกวม และทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนกำลังแรงในวันที่ 27 พฤศจิกายน และเป็นพายุไต้ฝุ่นในวันถัดมา กระบวนการน้ำผุดของตัวพายุเองเป็นผลให้พายุมีการเคลื่อนที่แบบกึ่งอยู่นิ่ง เมื่อรวมกับลมเฉือนกำลังปานกลาง ทำให้พายุไต้ฝุ่นคัมมูริไม่ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นระยะเวลาสามวัน กระทั่งวันที่ 1 ธันวาคม คัมมูริเริ่มแสดงสัญญาณของการทวีกำลังแรงขึ้นอย่างรวดเร็วอีกครั้ง และทวีกำลังแรงเป็นพายุไต้ฝุ่นระดับ 2 (เทียบเคียงตามมาตราลม SSHWS) หลังจากนั้น

การประชุมสาธารณะภูมิอากาศครั้งที่ 119 สำนักงานบริหารบรรยากาศ ธรณีฟิสิกส์ และดาราศาสตร์แห่งฟิลิปปินส์ (PAGASA) ได้อภิปรายถึงความเป็นได้ในการคุกคามของพายุคัมมูริต่อประเทศฟิลิปปินส์ และมีความเป็นไปได้ที่การพัดขึ้นฝั่งของคัมมูรินั้นจะเกิดขึ้นในพื้นที่บีโคล-เคโซน ระหว่างการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ 2019 ในความรุนแรงระดับพายุไต้ฝุ่นที่ทรงพลัง[83] วันที่ 28 พฤศจิกายน PAGASA เริ่มจัดแถลงข่าวแสดงมาตรการที่เหมาะสมและการเชื่อมโยงการทำงานกับผู้จัดงานซีเกมส์ 2019 เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับพายุไต้ฝุ่น เช่น การจัดให้มีนักล่าพายุ (storm chaser) และเรดาร์เคลื่อนที่ ส่งไปยังสถานที่จัดการแข่งขันในเขตเมโทรมะนิลาและลูโซนกลาง[84] ต่อมาในช่วงบ่ายของวันที่ 30 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันจัดพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ PAGASA ได้จัดชื่อท้องถิ่นให้กับพายุคัมมูริว่า ตีโซย (Tisoy) เนื่องจากตัวพายุได้พัดเข้าสู่เขตพื้นที่รับผิดชอบของฟิลิปปิน (PAR) และเริ่มมีการเตือนภัยไปยังจังหวัดซีลางังซามาร์และฮีลากังซามาร์[85][86][87]

หน่วยงานปกครองท้องถิ่นเขตบีโคลได้เริ่มเตรียมการการมาถึงของพายุคัมมูริ[88] มีการเตรียมหน่วยกู้ภัยและเครื่องมือจำเป็น และโรงพยาบาลในจังหวัดคาตันดัวเนส ซึ่งเป็นจังหวัดที่คาดการณ์ว่าพายุคัมมูริจะพัดขึ้นฝั่งเป็นที่แรก โดยมีการเตือนภัยในพื้นที่ ได้แก่ การจองสถานอพยพ, การห้ามสุรา และให้หยุดงานและชั้นเรียนตามคำสั่งของรัฐบาลท้องถิ่นของจังหวัด ในเมืองคามาลิก จังหวัดอัลไบ มีการเก็บเกี่ยวพืชผลเร็วขึ้น ขณะที่สำนักงานขนส่งในเขตสั่งงดการโดยสารรถบัสไปยังท่าเรือเพื่อหลีกเลี่ยงการติดอยู่ในอันตรายของผู้โดยสาร ขณะเดียวกันนั้น ผู้จัดงานซีเกมส์ได้รายงานว่ามีการจัดทำแผนฉุกเฉินเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับพายุคัมมูริไว้แล้ว[89][88]

สัญญาณเตือนภัยระดับ 1, 2 และ 3 ถูกนำมาใช้กับพายุที่กำลังเคลื่อนตัวเข้าใกล้เกาะลูซอน มีการอพยพประชาชน 43,000 คน และอีกจำนวนมากถูกสั่งให้หา "สถานที่กำบัง"[90] เพราะเมื่อพายุคัมมูริเคลื่อนตัวเข้าใกล้เกาะลูซอน พายุจะทวีกำลังแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว วันที่ 2 ธันวาคม เวลา 13:30 น. ตามเวลาท้องถิ่นฟิลิปปินส์ พายุไต้ฝุ่นคัมมูริทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่นระดับ 3 (เทียบเคียงมาตรา SSHWS) ทางตะวันออกของซามาร์ โดยทำให้เกิดสภาพอากาศแบบพายุไต้ฝุ่นและฝนตกในเลย์เตและซามาร์ ก่อนที่พายุจะพัดขึ้นฝั่ง พายุไต้ฝุ่นคัมมูริทวีกำลังแรงขึ้นไปอีก โดยมีความเร็วลมสูงสุด 160 กม./ชม. (ต่อเนื่องสิบนาที) เวลา 17:00 น. ตามเวลาท้องถิ่นฟิลิปปินส์ PAGASA รายงานว่ากำแพงตาด้านใต้ของคัมมูริทำให้เกิดลมพัดอย่างรุนแรงและฝนตกอย่างหนักในจังหวัดฮีลากังซามาร์ และได้เปลี่ยนแปลงจุดคาดการณ์ว่าพายุจะพัดขึ้นฝั่งไปยังพื้นที่อัลไบ-ซอร์โซโกน[91] ภาพถ่ายจากเมืองมานาปัสและกาไม ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งแปซิฟิกของจังหวัดฮีลากังซามาร์ แสดงให้เห็นอุทกภัยและลมแรงจากพายุคัมมูริ[92] และในประกาศฉบับสุดท้ายของวัน PAGASA รายงานว่าพายุคัมมูริพัดขึ้นฝั่งที่เมืองกูบัต จังหวัดซอร์โซโกน ในเวลา 23:00 น. ตามเวลาท้องถิ่น[93]

พายุไต้ฝุ่นฟานทอง

พายุไต้ฝุ่น (JMA)
พายุไต้ฝุ่น (TMD)
พายุไต้ฝุ่นระดับ 2 (SSHWS)
ระยะเวลา19 – 29 ธันวาคม
ความรุนแรง150 กม./ชม. (90 ไมล์/ชม.) (เฉลี่ย 10 นาที)
970 mbar (hPa; 28.64 inHg)
ชื่อท้องถิ่นของ PAGASA (ฟิลิปปินส์): อูร์ซูลา

ใกล้เคียง

ฤดูพายุไต้ฝุ่นแปซิฟิก พ.ศ. 2565 ฤดูพายุไต้ฝุ่นแปซิฟิก พ.ศ. 2564 ฤดูพายุไต้ฝุ่นแปซิฟิก พ.ศ. 2560 ฤดูพายุไต้ฝุ่นแปซิฟิก พ.ศ. 2563 ฤดูพายุไต้ฝุ่นแปซิฟิก พ.ศ. 2562 ฤดูพายุไต้ฝุ่นแปซิฟิก พ.ศ. 2556 ฤดูพายุไต้ฝุ่นแปซิฟิก พ.ศ. 2545 ฤดูพายุไต้ฝุ่นแปซิฟิก พ.ศ. 2559 ฤดูพายุไต้ฝุ่นแปซิฟิก พ.ศ. 2554 ฤดูพายุไต้ฝุ่นแปซิฟิก พ.ศ. 2566

แหล่งที่มา

WikiPedia: ฤดูพายุไต้ฝุ่นแปซิฟิก พ.ศ. 2562 http://fj.people.com.cn/n2/2019/0825/c181466-33285... http://tcdata.typhoon.gov.cn/en/ http://tcrr.typhoon.gov.cn/EN/article/downloadArti... http://www.china.org.cn/china/2019-08/12/content_7... http://bbs.typhoon.org.cn/read.php?tid=78666&fid=5... http://thoughtleadership.aonbenfield.com//Document... http://thoughtleadership.aonbenfield.com//Document... http://www.asahi.com/ajw/articles/AJ201907210031.h... http://www.australiasevereweather.com/cyclones/200... http://www.jejunews.com/news/articleView.html?idxn...